ประเด็นร้อน
ฟังเรื่องปราบทุจริตวงการศึกษา 'โกศล ประทุมชาติ' ในบทเปาบุ้นจิ้นแห่งวังจันทรเกษม
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 27,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ - -
กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่า มีข้าราชการและบุคลากรมากที่สุดในประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นกระทรวงที่มีงบประมาณในมือมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้นการที่มีทั้งคนและเงินจำนวนมาก จึงมักถูกมองเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดการรั่วไหล และเป็นช่องทางให้ผู้มีจิตไม่สุจริต คิดคด กระทำการทุจริตได้
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายใต้รั้ววังจันทรเกษม เรียกได้ว่าไม่ค่อยจะว่างเว้นข่าวคราวการทุจริต ข่าวใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ซึ่งจะมีโผล่มาเป็นระยะ เฉพาะช่วง 2-3 ปีมานี้ข่าวการทุจริตในวงการศึกษาสร้างความหดหู่และน่าสังเวชใจอย่างมาก โดยเฉพาะการทุจริตด้วยการยักยอกเงินเด็ก ทำให้นักเรียนด้อยโอกาสจำนวนหนึ่งต้องถูกตอกซ้ำความด้อยโอกาสจนเกือบหมดโอกาสที่จะได้เรียน และยังมีการทุจริตโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นการสร้างความเสื่อม สั่นสะเทือนวงการครูอย่างมาก
เวลานี้กระทรวงศึกษาธิการมี คณะทำงานปราบโกง หรือ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดูแลแก้ไข ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตภายในกระทรวงศึกษาธิการ วันนี้ทีมข่าวการศึกษาเดลินิวส์ ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องการทุจริตในแวดวงการศึกษากับ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ หรืออีกฉายาว่า เปาปุ้นจิ้นแห่งวังจันทรเกษม โดย พล.ท.โกศล เล่าว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ ดูงานหลัก ๆ 2 เรื่อง คือ รับเรื่องร้องเรียนและปราบทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ และการกำกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งเป็น 2 องค์กรที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทั้ง 2 องค์กรนี้ยุติบทบาท เพราะมีการ ทุจริตเยอะพล.ท.โกศล บอกด้วยว่า เรื่องทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการที่พบขณะนี้ มีไม่ต่ำกว่า 50 เรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญมาก ๆ มี 3-5 เรื่อง ถ้าถามว่าหนักใจหรือไม่ เพราะเรื่องทุจริตมีผู้ใหญ่ หรือผู้บริหารกระทรวงเกี่ยวข้อง ด้วย ก็ต้องบอกว่า ไม่หนักใจ เพราะรับราชการทหารมา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าสอนให้ทหารทุกคนรักษาเกียรติยศและชื่อเสียง โดยเฉพาะระบบเกียรติศักดิ์ เพราะฉะนั้นความกลัวไม่บังเกิดกับตนแน่นอน เพราะตนทำงานกับ รมว.ศึกษาธิการด้วยใจที่มอบให้โดยเฉพาะ ผมเชื่อมั่นใน ตัว นพ.ธีระเกียรติมาก โดยดูจาก การทำงานที่ทุ่มเทมาก ทำงานไปประชุมไป บางวันทานข้าวมื้อเดียว โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น คิด ว่า รมว.ศึกษาธิการไม่เคยเบียดบังเงินหลวงแม้แต่บาทเดียว ทำให้ เชื่อมั่นในตัว รมว.ศึกษาธิการ เพราะฉะนั้นในกระทรวงศึกษาธิการผมไม่ต้องเกรงกลัวใครแล้ว เมื่อเสมา 1 มอบความไว้วางใจให้ และผมก็ตั้งใจไว้ว่า จะไม่ละเมิดความไว้วางใจที่ได้รับเด็ดขาด ซึ่งผมเคยบอกกับ รมว.ศึกษาธิการว่า วันใดที่ไม่ไว้วางใจผม ขอให้บอก ผมจะกลับบ้านทันที
เท่าที่รับร้องเรียนและลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งด้วยตัวเอง และใช้เครือข่ายที่มีอยู่ซึ่งเป็นเพื่อนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถแยกการทุจริตที่เกิดขึ้นได้ 2 กลุ่ม คือ 1. การทุจริตโดยคนในกระทรวง ทำให้คนในพื้นที่เดือดร้อน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และ 2. คนในพื้นที่ระดับผู้อำนวยการทั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการโรงเรียนเล่นกันเอง แต่ประเด็นใหญ่ที่เป็นปัญหามาก คือ กรณีแรก เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดตามโครงการ Safe Zone School (CCTV) ในจังหวัดภาคใต้ โครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรืออควาเรียม ทะเลสาบสงขลา ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ การก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โครงการก่อสร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์ หรือโดม ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. เป็นต้น
เมื่อพูดถึงปัญหาอุปสรรคของการปราบทุจริต ท่านเปาโกศล บอกว่า กระทรวงศึกษาธิการมีคนดีเยอะ ช่วงแรกๆ ที่ผมมารับหน้าที่ มีปัญหาเรื่องการหาข้อมูล ข้อมูลที่ถูกต้องมีน้อยมาก เราต้องหาเอง แต่อยู่ไประยะหนึ่งเชื่อว่าเพราะคนดีในกระทรวงมีความมั่นใจในตัว รมว.ศึกษาธิการ และมั่นใจในทีมงานของผม ก็เริ่มมีโทรศัพท์และมีคนมาให้ข้อมูล ทำให้ผมทำงานได้รวดเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมมั่นใจว่า คนดีในกระทรวงศึกษาธิการเริ่มกล้าขึ้นมาเคียงข้าง นพ. ธีระเกียรติ ในการนำกระทรวงศึกษาธิการไปสู่ความโปร่งใส
"แนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ผมตีไว้ 3-4 ประเด็น เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการถูกครอบงำด้วยระบบที่ไม่ดีมานาน มีการสร้างเครือข่าย คือ การทุจริตเป็นเครือข่ายที่ถูกสร้างมานาน กระทั่งคนตัวเล็กที่อยู่ในเครือข่ายขณะนี้เติบโตมาอยู่ในกระทรวง เพราะฉะนั้นการทุจริตจะทำเป็นเครือข่าย เช่น งบฯแปรญัตติ งบฯเหลือจ่ายพอปลายปีก็จะทำโครงการแล้วส่งไปที่พื้นที่ในเครือข่าย แล้วมีเงินทอนย้อนขึ้นมา อีกประเด็นที่ผมมองว่าเป็นจุดอ่อนของกระทรวงศึกษาธิการ คือ หน่วยตรวจสอบภายในและนิติกร ที่ยังไม่เข้มแข็งพอ เพราะ
2 องค์กรนี้ ถ้าเข้มแข็งการทุจริตจะไม่เกิด หรือถ้าเกิดก็จะรู้ทัน โดยเฉพาะนิติกรถ้ามีความซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณ อำนาจเงินซื้อไม่ได้ ผมมั่นใจว่า จะสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้เลย แต่ 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมาผมมองว่า 2 องค์กรนี้ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ วิธีแก้ซึ่งผมได้เสนอ รมว.ศึกษาธิการไปแล้ว คือ 2 หน่วยงานนี้ต้องขึ้นกับผู้บังคับบัญชาหน่วยโดยตรง อย่างกองทัพบกจะขึ้นกับผู้บัญชาการทหารบก ถ้าหน่วยตรวจสอบภายใน ไปตรวจพบการกระทำความผิด แนะนำแล้วไม่ทำก็จะมาเรียน ผบ.ทบ. ผบ.ทบ.จะสั่งดำเนินการหัวหน้าหน่วยทันที แต่การให้ 2 หน่วยนี้ผ่านผู้บริหารตามลำดับ แนวคิดต่าง ๆ อาจจะถูกหักเหจนทำให้ข้อมูลเพี้ยนไปได้
อีกอย่างที่ผมอยากให้เกิดในกระทรวงศึกษาธิการ และตอนนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว คือ การนำคนผิดมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว เพราะที่ผ่านมากระบวนการสืบสวนสอบสวนของกระทรวงศึกษาธิการใช้เวลายาวนาน โดยเฉพาะการสืบสวนหลายเรื่อง 5 ปี ยังสืบไม่เสร็จ มีการเตะถ่วง เพราะฉะนั้นจึงเสนอว่าถ้าสืบแล้วมีมูลต้องเอาผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งก่อน ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยเสนอรมว.ศึกษาธิการไปแล้ว แต่พอเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบใช้มาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ มาตรการของ คสช. ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีมากที่จะทำให้ใครที่คิดจะทุจริตไม่กล้าทำ ซึ่งตรงกับความต้องการของผมพอดี และหลังประกาศใช้มาตรการแล้ว มีหลายคดีที่จำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่ง ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ก็ได้ใช้ทันทีในหลายเคส
สุดท้ายนี้คงต้องถามว่า การรับบทผู้คุมกฎ ปราบทุจริต มีความกดดันหรือมีถูกร้องขอให้ช่วยเหลือบ้างหรือไม่ คำตอบที่ได้ คือ กดดันเยอะ แต่พอขี่หลังเสือแล้ว จะมาทำเล่น ๆ ไม่ได้ มาขอให้เบาหน่อยก็มี แต่ก็เบาไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน ขอน่ะมีอยู่แล้วเป็นธรรมดาของคนไทย แต่เมื่อผมเป็นคนจัดการกับปัญหาการทุจริตจะมาขอให้ช่วย ผมทำไม่ได้...
ติดตามรับฟัง เรื่อง "การปราบปรามการทุจริตในวงการศึกษา" กับ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กับรายการ "ทีช ทอล์ค ทัวร์ สเตชัน" EP.7 ทางยูทูบ DailynewsLive-TH
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน